โครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ภาครัฐคิดมาจากอะไรบ้าง?

Last updated: 12 ก.ย. 2566  |  987 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ต้นทุนพลังงาน

   

โครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหนึ่งหน่วย ประกอบไปด้วย 5 ส่วน ดังนี้
     1. ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมการซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ การนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ และค่า Adder ค่า FiT
     2. ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ของกฟผ. และเอกชน (ค่าความพร้อมจ่าย (AP))
     3. ต้นทุนระบบจำหน่ายและค้าปลีก ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
     4. นโยบายของภาครัฐ
     5. ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ.
      จากข้อมูลโครงสร้างต้นทุนของเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 พบว่าต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในอัตราที่มากที่สุดสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูงถึง 2.91 บาทต่อหน่วย นอกจากนั้นอันดับที่สองคือ ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าประมาณ 80 สตางค์ ซึ่งหลักๆของค่านี้คือค่าพร้อมจ่าย (AP) ซึ่งถ้าเทียบกับปีฐาน 2558 แล้ว ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่ต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เนื่องจากจำนวนของ SPP ที่เพิ่มขึ้นมาก และสัญญา SPP ตามนโยบายต้องมีการเดินเครื่อง ซึ่งเป็นสัญญาที่ต้องซื้อ (Must Take) แม้ต้นทุนจะสูงกว่า IPP ทำให้ต้องลดกำลังการผลิตของ IPP อีกทั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็ต้องซื้อตามสัญญา ทำให้ต้นทุนในภาพรวมสูงขึ้น (สัญญาและนโยบายรัฐส่งผลต่อต้นทุนราคาไฟฟ้า)

     การคำนวณตามนโยบาย กพช.(คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ)
     เริ่มจากปีที่มีการปรับค่าไฟฟ้าฐาน ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2558 เปรียบเทียบกับ งวดปัจจุบัน ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2566 จะเห็นว่าต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลง และมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมีอยู่ 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย ค่า AP ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ.  ค่า AP ที่ กฟผ.จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ทั้ง IPP และ SPP จากการคำนวณในปี 2558 ในบิลค่าไฟฟ้าจะมีต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 0.67 บาท/หน่วย ส่วนปัจจุบันในปี 2566 มีค่าเฉลี่ย 0.79 บาท/หน่วย ซึ่งเพิ่มจากปีฐานประมาณ 10 สตางค์/หน่วย คิดเป็นร้อยละ 18 ถ้าคิดเทียบกับค่าไฟฟ้ารวมแล้วเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.66 เท่านั้นซึ่งถือว่าต้นทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าเอกชนมีทั้งเพิ่มขึ้นและหมดสัญญา

ส่วนที่ 2 ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ในส่วนนี้มีการเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยบิลค่าไฟฟ้าในปี 2558 จะมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเฉลี่ย 2.14 บาท/หน่วย ส่วนปัจจุบันในปี 2566 เฉลี่ย 3.27 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้น 1.13 บาท/หน่วย คิดเป็นร้อยละ 52.80 สาเหตุมาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยผลิตได้น้อย จึงต้องนำเข้า LNG และน้ำมันเตา ดีเซล ซึ่งมีราคาสูงมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทน อีกทั้งปัญหาราคาพลังงานของโลกที่เปลี่ยนแปลง

ส่วนที่ 3 ต้นทุนจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ในบิลค่าไฟฟ้าปี 2558 มีต้นทุนส่วนนี้เฉลี่ย 0.16 บาท/หน่วย ส่วนงวดปัจจุบันมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.20 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้นมาเพียง 4 สตางค์/หน่วย คิดเป็นการเพิ่มจากเดิมร้อยละ 25 ถ้าคิดเทียบกับค่าไฟฟ้ารวมแล้วเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.06 เท่านั้น ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยมาก ซึ่งส่วนนี้รัฐมีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ กกพ. ทำการแยกผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยออกมาจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น โดยนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยซึ่งมีราคาถูกที่สุดและเป็นของประชาชนทุกคน มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลงจาก 3.27 บาท/หน่วย เป็น 2.74 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย ในส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นนั้นให้คิดจากก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เหลือรวมกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจาก 3.27 บาท/หน่วย เป็น 3.36 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น เพิ่มขึ้นจาก 5.24 บาท/หน่วย เป็น 5.33 บาท/หน่วย

     

     วิธีคำนวณประมาณการซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ซื้อจากเอกชน ที่ส่งผลต่อค่า Ft ดังนี้   
     ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment :AP) + ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payments: EP) + ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense: PE)

     AP คือ ค่าความพร้อมจ่าย หรือค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องลงทุน เช่น ค่าเช่า ค่าอุปกรณ์อะไหล่โรงไฟฟ้า ค่าจ้างเดินเครื่องหรือบำรุงรักษา ค่าประกันภัยโรงไฟฟ้า ฯลฯ ที่ต้องจ่ายทุกเดือน ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ผลิตก็ตาม ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณ 80 สต.ต่อหน่วย จากข้อมูลพบว่า IPP จำนวนมากผลิตไฟฟ้าน้อยมากและบางแห่งไม่มีการผลิต เนื่องจากมีการสำรองไฟฟ้าไว้สูง (ค่านี้เปลี่ยนแปลงตามสัญญาการรับซื้อเข้าระบบเหมือนกับสัญญาการเช่ารถมาใช้ในหน่วยงานถ้าไม่ใช้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ทำสัญญาใหม่ไม่ต้องเสียค่าพร้อมจ่าย
      EP คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า เป็นค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าเอกชนจะได้รับก็ต่อเมื่อศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าสั่งการให้โรงไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าต้องรับประกันประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าว่า ผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย ต้องใช้เชื้อเพลิงเท่าใด ในช่วงเวลาที่ราคาเชื้อเพลิงสูงค่านี้ก็จะสูงขึ้นด้วย โดยปัจจัยหลักที่ทำให้สูงขึ้นเกิดจาก
1. ที่ผ่านมานโยบายรัฐ พยายามลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนสูงกว่าเพิ่มมากขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น เป็นต้น
2. ที่ผ่านมามีปัญหาการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลงจากการประมูลสัมปทานใหม่  โดยเปลี่ยนจากกลุ่มเชฟรอน เป็น ปตท.สผ. ทำให้เกิดช่องว่างรอยต่อ
3. ที่ผ่านมาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ผลิตได้ลดลง
4. สงครามรัสเซีย – ยูเครน และการตัดท่อส่งก๊าซที่รัสเซียส่งไปยุโรป ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้า(LNG) เพิ่มสูงขึ้นมาก
5. ความผันผวนของราคาพลังงานโลก

     ประเทศไทยผลิตก๊าซธรรมชาติใช้เองประมาณ 66% และนำเข้าประมาณ 34% โดยนำเข้าจากเมียนมาร์ประมาณ 16% และนำเข้าในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ประมาณ 18% ส่งผลให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น

     PE คือ ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ เป็นค่าใช้จ่ายจากโครงการต่างๆที่รัฐส่งเสริมสนับสนุน

  

 




Credit | กระทรวงพลังงาน, EPPO

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้