การไฟฟ้าซื้อไฟฟ้าเพื่อนำมาขายจากกี่กลุ่ม มีค่าใช้จ่ายอย่างไร

Last updated: 12 ก.ย. 2566  |  193 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ค่าใช้จ่ายการไฟฟ้า

   

     การซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าเพื่อนำมาขายมีกี่กลุ่ม?
     กลุ่มที่ 1 การซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT)
            กลุ่มที่ 1.1 สัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) กลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน ดังนี้
             ส่วนที่ 1 ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ AP) เป็นค่าเตรียมความพร้อมที่ กฟผ. ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้า ในกรณีที่โรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็จะต้องจ่ายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยค่า AP ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆดังนี้ 1) เงินลงทุนที่สะท้อนต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2) ค่าใช้จ่ายในการผลิตและบำรุงรักษา และ 3) ต้นทุนค่าเชื่อมโรงไฟฟ้ากับระบบส่งของ กฟผ. 
             ส่วนที่ 2 ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment หรือ EP) คือ ค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าใช้เดินเครื่องจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบ ตามคำสั่งการของ กฟผ. โดยโรงไฟฟ้าจะได้รับค่าพลังงานไฟฟ้าตามค่าที่รับประกันประสิทธิภาพการผลิต (Heat Rate) ที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

             กลุ่มที่ 1.2 กรณีที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภท Firm SPP การซื้อไฟจากกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่าย 2 ส่วนดังนี้
             ส่วนที่ 1 ค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งมีหลักการเดียวกันกับ ค่า AP แต่เรียกว่า ค่า CP (Capacity Payment หรือ CP) โดยคิดจากเงินลงทุนที่สะท้อนต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการผลิต และค่าบำรุงรักษา
             ส่วนที่ 2  ค่าพลังงานไฟฟ้า หรือ ค่า EP คิดมาจากค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าประเภท Firm SPP ที่ได้รับการต่อขยายสัญญาจะได้รับเฉพาะค่า EP ส่วนค่า CP ไม่ได้ เพราะถือว่าผู้ผลิตไฟฟ้ากลุ่มนี้ได้รับต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปจนครบถ้วนแล้ว แต่ถ้าเป็นโรงไฟฟ้า Firm SPP ประเภทพลังงานหมุนเวียน กลุ่มนี้จะได้รับเงินส่วนเพิ่มจากราคารับซื้อไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า ค่า Adder ด้วย

            กลุ่มที่ 1.3 กรณีที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภท Non-firm SPP ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ พลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (Cogeneration) สัญญาการซื้อไฟฟ้ากลุ่มนี้มีอายุ 1 ปี และได้รับการต่อสัญญาทุกปี โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มนี้จะประกอบด้วย ค่าพลังงานไฟฟ้า (ค่า EP) เท่ากับราคาค่าไฟฟ้าขายส่ง ณ แรงดัน 11-33 กิโลโวลต์ รวมกับค่า Ft ขายส่งเฉลี่ย และค่า Adder ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศเป็นครั้งๆ ไป

     กลุ่มที่ 2 สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก เป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Non-firm ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เดิมมีอายุสัญญา 1 ปี ต่ออายุสัญญาโดยอัตโนมัติ ต่อมาได้มีการขยายอายุสัญญาเป็น 5 ปี ต่ออายุสัญญาโดยอัตโนมัติ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับเงินจากการขายไฟฟ้า 2 รูปแบบ ดังนี้
             รูปแบบที่ 1 ได้ค่า Adder เป็นอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มขึ้นจากราคาขายส่งเฉลี่ย และค่า Ft เฉลี่ย
             รูปแบบที่ 2 ได้ค่า Feed in Tariff (FiT) เป็นอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ 20-25 ปี และมีการปรับเพิ่มสำหรับกลุ่มที่ใช้เชื้อเพลิง โดยอัตราค่า FiT ดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลงตามค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ทำให้ราคาชัดเจน และเกิดความเป็นธรรม

     กลุ่มที่ 3  สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้าของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีโครงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ โดย สปป.ลาว ขายพลังงานไฟฟ้าให้มาเลเซีย ผ่านระบบส่งของ กฟผ. โดย กฟผ. จะได้รับค่าผ่านสาย (Wheeling Charge)         

     สำหรับสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มี 2 รูปแบบ ดังนี้

     รูปแบบที่ 1 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบรัฐต่อรัฐ (Grid to Grid) ระหว่างการไฟฟ้าของ สปป.ลาว กับ กฟผ. แลกเปลี่ยนไฟฟ้าแบบ Non-firm ผ่านการเชื่อมระบบไฟฟ้าที่ระดับแรงดันต่ำ 115 KV ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าน้ำงึม 1 ประกอบด้วยโครงการน้ำงึม 1 น้ำลึก และน้ำเทิน 2 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเซเสด ประกอบด้วยโครงการเซเสด 1, เซเสด 2 และห้วยลำพันใหญ่ โดย สสป.ลาว จะขายไฟฟ้าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้ภายในประเทศให้กับ กฟผ. โดยคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบ่งตามช่วงเวลา Peak/Off Peak ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และมีการต่ออายุสัญญาคราวละ 1 ปี ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยราคารับซื้อเป็นแบบ Short Run Marginal Cost

     รูปแบบที่ 2 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับโรงไฟฟ้า IPP เอกชนใน สปป.ลาว ซึ่งแยกตามประเภทโรงไฟฟ้า และเชื้อเพลิงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 
     กลุ่มที่ 1 โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ กลุ่มนี้ กฟผ. จะจ่ายเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า หรือ ค่า EP ซึ่งมีองค์ประกอบของเงินลงทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้ารวมอยู่ในค่า EP ด้วย เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน ดังนั้น เพื่อเป็นการรับประกันความพร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าได้ กฟผ. จึงจะจ่ายค่าเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามค่า EP ที่ผลิตจริงเท่านั้น โดยอัตราค่าไฟฟ้าพลังงานน้ำมี 3 อัตรา คือ 1. อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเวลา Peak  2. อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเวลา Off Peak และ 3. โดยจำนวนช่วงเวลา Peak และ Off Peak ในวันปกติรวมกันเท่ากับ 21.5 ชั่วโมง/วัน เฉพาะวันอาทิตย์จะถือเป็นช่วงเวลา Off Peak นอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็น Excess Energy คิดค่าไฟฟ้าในอัตราต่ำที่สุด 
     กลุ่มที่ 2 โรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ กลุ่มนี้ กฟผ. จ่ายค่ารับซื้อไฟฟ้า เหมือนกับการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ในประเทศไทย ประกอบด้วยค่าพร้อมจ่าย (AP) กับค่าพลังงานไฟฟ้า (EP)
      ส่วนสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจากมาเลเซียนั้น เป็นการซื้อขายไฟฟฟ้าผ่านระบบสายส่งไฟฟ้ากระแสตรง แรงดันสูง (HVDC) โดยเน้นเรื่องความช่วยเหลือระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างกัน เพื่อรักษาระบบส่งให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา และสามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ในรูปแบบ Non-firm โดยจะมีการแจ้งราคาซื้อขายล่วงหน้ารายเดือน และยืนยันการซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าเป็นรายวัน

  

 

 

คำนิยาม

1. ประเภท Firm คือการรับประกันว่าจะจ่ายไฟฟ้าให้กับระบบตามจำนวนในสัญญา ถ้าไม่ทำตามเราจะถูกปรับเงิน

2. ประเภท Non-firm ส่วนใหญ่จะใช้กับประเภทพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตไฟฟ้าได้ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ เป็นต้น และจะไม่ถูกปรับเงินถ้าเราไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ถึงตามที่กำหนด



Credit | กระทรวงพลังงาน, EPPO

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้