Last updated: 9 ส.ค. 2564 | 5380 จำนวนผู้เข้าชม |
ด้วยความต้องการพลังงานของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อโลกด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทั่วโลกจึงเริ่มมองหาพลังงานสะอาดมากขึ้น และประเทศไทยเองได้มีโครงการ Hydro-Floating Solar Hybrid ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (ASEAN) โดยเป็นการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าจาก 2 ทาง ทั้งโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ และพลังงานน้ำจากเขื่อน โดยควบคู่ไปกับการนำระบบกักเก็บพลังงานมาช่วยสร้างเสถียรภาพ
นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า "กฟผ. มีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid) ทั้งหมด 16 โครงการ บนพื้นที่ผิวน้ำของ 9 เขื่อนหลัก กฟผ. ทั่วประเทศ รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ โดยนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นแห่งแรก ด้วยกำลังการผลิตถึง 45 เมกะวัตต์ จึงนับเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นระบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีโครงการอื่น ๆ ที่จะทยอยเข้าสู่ระบบตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) "
นวัตกรรมระบบผสมผสานหรือระบบไฮบริด (Hybrid) คือการผสมผสานระหว่าง "พลังงานแสงอาทิตย์" ร่วมกับ "พลังน้ำ" โดยนำโซลาร์เซลล์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันที่มีปริมาณความเข้มของแสงเพียงพอ และนำพลังน้ำมาเสริมในช่วงที่ความเข้มแสงไม่เพียงพอ ในช่วงเวลากลางคืน รวมถึงช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก (Peak) ทั้งยังได้นำระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาควบคุมการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
สำหรับโครงการ Hydro-Floating Solar Hybrid นำร่องแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 450 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ผิวน้ำเพียง 0.27 เปอร์เซ็นต์ แบ่งการติดตั้งทั้งหมดออกเป็น 7 ชุด ด้วยกัน โดยแผงโซลาร์เซลล์ที่เลือกใช้เป็นชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ทนความชื้นได้ดี ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ ติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ มีการยึดโยงใต้น้ำถ่วงด้วยตุ้มคอนกรีตผ่านสายสแตนเลส สามารถรองรับแรงทุกประเภทที่เกิดขึ้นในท้องน้ำ เช่น แรงลม แรงคลื่น แรงยกตัว ระบบผลิตไฟฟ้านี้มีการต่อเข้าอาคารสวิตช์เกียร์บนบกที่เชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่มีอยู่เดิม
นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาโครงการนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของจังหวัด โดยก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ความสูง 5 - 10 เมตร ยาว 415 เมตร เพื่อให้ประชาชนได้เดินชมความสวยงามของทิวทัศน์ได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก่อนเดินชม เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งคาดว่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานนี้ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่ (อ้างอิงจากงานวิจัยของ กฟผ.) ทั้งยังช่วยลดการระเหยของน้ำได้ประมาณ 460,000 ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องที่ตอบสนองต่อโลกแห่งยุคพลังงานสะอาดได้อย่างดีเลยทีเดียว
Credit | EGAT, กรุงเทพธุรกิจ, Hello Social
6 ส.ค. 2564